เป็นเห็ดที่มีรสชาติดี นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายและมีราคาแพง
เมื่อนำดอกเห็ดมาผึ่งลม หรือตากแห้ง ดอกเห็ดหอมจะมีกลิ่นหอมและรสชาติพิเศษเฉพาะตัว พบการแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศแถบเอเชียตะวันออก ตั้งแต่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี จนถึงประเทศแถบอินโดจีน แต่จะไม่พบในประเทศเขตหนาวและเขตร้อน เห็ดหอมเป็นที่นิยมและรู้จักกันดีในลักษณะของอาหารจีนและญี่ปุ่น มาเป็นเวลานานแล้ว คนไทยรู้จักเห็ดชนิดนี้ในรูปของเห็ดแห้งที่นำมาจากต่างประเทศ โดยเพาะเลี้ยงด้วยท่อนไม้ เช่น ไม้โอ๊คและเกาลัด ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาวิธีการเพาะเห็ดหอมโดยเริ่มจากเพาะด้วยท่อนไม้ จนในปัจจุบันถือว่าเป็นประโยชน์ที่มีเทคโนโลยีสูงในการเพาะเห็ดหอม สามารถผลิตเห็ดหอมจำหน่ายเป็นสินค้าออกอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาได้แก่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และเกาหลี ตามลำดับ นอกจากจะมีรสชาติที่เป็นที่นิยมบริโภคแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารไม่ด้อยไปกว่าเห็ดชนิดอื่น มีคุณค่าทางด้านเภสัช เนื่องจากพบว่าในเห็ดหอมมีสารประกอบที่มีสรรพคุณด้านเภสัชอยู่หลายชนิด การบริโภคเห็ดหอมจึงช่วยป้องกันโรคที่เกิดกับคนได้ เช่น
1. เห็ดหอมประกอบด้วยสาร eritadenin มีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเส้นเลือด (cholesterol)ในคนได้
2. ในเห็ดหอมมีสารพ วก lentinan, pachymaran และ carboxyl methylpachymaran สามารถสกัดกั้นการเจริญของเนื้องอก และมีคุณสมบัติต่อต้านโรคมะเร็ง
3. ในเห็ดหอมมีสารต่อต้านเชื้อไวรัส รวมทั้งไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดด้วย มีการศึกษาและทดลองเพาะเห็ดหอมในไทย ซึ่งพบว่าสภาพภูมิอากาศของไทยเหมาะสมต่อการเพาะเห็ดหอมเป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางแถบภาคเหนือ ในระยะแรกมีปัญหาในการส่งเสริม เนื่องจากวัสดุที่เหมาะต่อการเพาะเห็ดหอมเป็นพวกไม้ก่อ ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงบริเวณป่าต้นน้ำลำธารต้องถูกทำลายไป ต่อมาได้มีการทดลองเพาะเลี้ยงในถุงพลาสติกเช่นเดียวกับเห็ดนางฟ้านางรม โดยมีขี้เลื่อยเป็นวัสดุเพาะและเห็ดหอมสามารถเจริญได้ดี ให้ผลผลิตเช่นเดียวกับการเพาะในท่อนไม้